1

แถลงข่าวเรื่องการบริหารจัดการไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จังหวัดเชียงใหม่

เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 เวลา 10.30 น. นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายรัฐพล นราดิศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายกมล นวลใย ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 1 (เชียงใหม่) นายเกรียงศักดิ์ ถนอมพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 นายสมบูรณ์ ธีรบัณฑิตกุล ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมแถลงข่าวสื่อมวลชนเรื่องการบริหารจัดการไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จังหวัดเชียงใหม่

โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้แถลงต่อสื่อมวลชนว่าในปี 2564 นโยบายของจังหวัดเชียงใหม่ ได้ตั้งเป้าลดจำนวนจุด Hot.spot.ลง 25% จากปีที่แล้วโดยเน้น การจัดการในระดับชุมชน โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ขับเคลื่อนการแก้ปัญหาในพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ให้เป็นผู้ดูแลงานด้านการป้องกันไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM.2.5 ได้กล่าวว่า การแก้ปัญหาในปี 2564 จะอาศัยการมีส่วนร่วมกับพี่น้องประชาชน และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนดแผนท้องถิ่นในการป้องกันโดยการสนับสนุนของจังหวัด และมีการจัดประชุมเพื่อพูดคุยหารือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้วกว่า 400 แห่ง เพื่อกำหนดแนวทางและแผนการลดการเกิดไฟป่า โดยมีคณะทำงานในระดับหมู่บ้าน ระดับตำบล ที่เป็นเครือข่ายกว่า 20,000 คน และมีคณะทำงานระดับอำเภอ โดยมีนายอำเภอเป็น single.command.ประสานความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เฝ้าระวังใน 3 พื้นที่เป้าหมาย คือ พื้นที่ป่า พื้นที่เกษตร และพื้นที่ชุมชน และมีการบัญชาการโดยศูนย์สั่งการระดับจังหวัด ซึ่งกำหนดพื้นที่เป้าหมายเป็น 2 โซน คือ โซนเหนือและโซนใต้ ที่ผ่านมาได้มีการประเมินผลการทำงานเรื่อยๆ เช่น เมื่อวันที่ 23-25 มกราคมที่ผ่านมา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แจ้งว่าอยู่ในช่วงที่อากาศไม่มีการเคลื่อนตัว จังหวัดจึงได้แจ้งให้ทุกอำเภอตรวจสอบควบคุมให้งดการเผา ทำให้สภาพอากาศ 2-3 วันที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ที่ดี
พร้อมนี้ ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 1 (เชียงใหม่) ได้กล่าวว่า สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 1 (เชียงใหม่) กรมป่าไม้ ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาไฟป่าในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จังหวัดเชียงใหม่ อย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายวราวุธ ศิลปอาชา) และข้อสั่งการของท่านอธิบดีกรมป่าไม้ (นายอดิศร นุชดำรงค์) โดยได้มีการลดปริมาณเชื้อเพลิงในรูปแบบต่างๆ เพื่อที่จะเป็นการลดโอกาสในการเกิดไฟป่าในพื้นที่ป่าหรือถ้าเกิดไฟป่าขึ้น ไฟจะมีความรุนแรงน้อยลง สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลงสามารถควบคุมไฟได้โดยง่ายขึ้น ที่ผ่านมาได้สั่งการให้หน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้ได้ร่วมกับเครือข่ายดำเนินการ ดังนี้

  1. การชิงเก็บ เพื่อลดปริมาณเชื้อเพลิง โดยการเก็บเอาใบไม้ที่ร่วงลงดินแล้วหรือวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร ซึ่งจะเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี นำมาอัดเป็นก้อน ขณะนี้สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 1 (เชียงใหม่) สามารถลดปริมาณเชื้อเพลิงได้แล้วจำนวน 60 ตัน นอกจากนี้ได้มีการจัดทำเสวียน หรือคอกเก็บใบไม้ เสวียนเป็นการจัดสานไม้ไผ่เป็นวงกลม สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 1 (เชียงใหม่) ได้สั่งการให้จัดทำเสวียนให้มีขนาด รัศมี 1.5 เมตร ความสูง 1 เมตร จำนวน 239 เครือข่ายๆ ละ 30 เสวียน ขณะนี้ได้ดำเนินการทำเสวียน ไปแล้ว รวมจำนวน 7,000 แห่ง สามารถลดปริมาณเชื้อเพลิงได้กว่า 350 ตัน
  2. การจัดทำแนวกันไฟ โดยจะกำจัดเชื้อเพลิงที่จะทำให้เกิดไฟป่าออกไป เช่น ใบไม้ หญ้า เพื่อตัดช่วงความต่อเนื่องของเชื้อเพลิงและเป็นการป้องกันไม่ให้ไฟลุกลาม ไปยังพื้นที่อื่น โดยดำเนินการเป็นแนว กว้าง 8-10 เมตร มีเป้าหมายเป็นระยะทาง จำนวน 720 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ จำนวน 112,320 ไร่ พร้อมได้จัดทำเส้นทางลำลองร่วมกับเครือข่ายป้องกันไฟป่า เพื่อให้ชุมชนใช้เป็นเส้นทางลาดตระเวนตรวจการป้องกันไฟป่าและสามารถใช้เป็นแนวกันไฟป่าได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งในขณะนี้สามารถดำเนินการไปแล้ว 90 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่จำนวน 14,040 ไร่ รวมการจัดทำแนวกันไฟเพื่อควบคุมและป้องกันไฟป่าในพื้นที่วิกฤต จำนวน 423 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ จำนวน 126,360 ไร่
  3. ในปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ห้วงเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา กรมป่าไม้ดำเนินการจ้างแรงงานเครือข่ายความร่วมมือในการควบคุมไฟป่า ในพื้นที่ ไปแล้ว จำนวน 239 เครือข่าย โดยได้มีการจ้างงานแก่สมาชิกเครือข่าย จำนวน 956 ราย และต่อมาในเดือนมกราคม-มีนาคม กรมป่าไม้ จะมีการจัดตั้งเครือข่ายความมือในการควบคุมไฟป่าเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานด้านการป้องกันไฟป่าอีก จำนวน 170 เครือข่าย ครอบคลุม 170 บ้าน ทั้งหมด 23 อำเภอ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และจ้างแรงงาน โดยเครือข่ายไฟป่าอีก จำนวน 1,800 คน ในเดือนมกราคม