ตำรวจกองบังคับการสืบสวนภาค 5 จับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ชาวไต้หวันร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์
ตำรวจกองบังคับการสืบสวนภาค 5 จับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ชาวไต้หวันร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลอันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน, ฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น”
เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 25 ม.ค.64 ที่ห้องประชุมศูนย์ปราบปรามอาชญกรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ตำรวจภูธรภาค 5 อ.เมือง จ.เชียงใหม่ พล.ต.ท.ประจวบ วงค์สุข ผบช.ภ.5 พล.ต.ต.วีรชน บุญทวี ผบก.สส.ภ.5 พ.ต.อ.ธวัชชัย พงษ์วิวัฒนชัย รอง ผบก.สส.ภ.5 ,พ.ต.อ.วรพงศ์ คำลือ รอง ผบก.สส.ภ.5 เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนภาค 5 เจ้าหน้าที่ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ตำรวจภูธรภาค 5 (ศปอส.ภ.5) ได้ทำการจับกุมตัวนายเป่าฉาง แซ่หลู่ อายุ 23 ปีอยู่บ้านเลขที่ 214 หมู่ 5 ต.เวียงใต้ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ผู้ต้องหาหมายจับศาลอาญาที่ จ.33/2564 ลงวันที่ 8 มกราคม 2564 นาย ยู เชา เหว่ย (YU CHAO WEI) อายุ 36 ปี ชาวไต้หวัน ผู้ต้องหาหมายจับศาลอาญาที่ จ.34/2564 ลงวันที่ 8 มกราคม 2564 นายวราวุธ ปามือ อายุ 20 ปี อยู่บ้านเลขที่ 86 หมู่ 6 ต.เวียงใต้ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน นายพรสวรรค์ ไพรสีเขียว อายุ 19 ปี อยู่บ้านเลขที่ 34 หมู่ 6 ต.สบป่อง อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน นำตัวดำเนินคดีในข้อหา”ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลอันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน, ฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น”
การจับกุมครั้งนี้เนื่องจากช่วงปลายปี 63 ที่ผ่านมาได้มีกลุ่มคนร้าย ทำการส่งข้อความ (SMS) ผ่านระบบอินเตอร์เน็ตเข้าไปที่หมายเลขโทรศัพท์มือถือ ของประชาชนกว่า 1 แสนคน ซึ่งข้อความดังกล่าวจะมีจุดประสงค์เพื่อให้ประชาชนทั่วไปหลงเชื่อว่าเป็นข้อความมาจากธนาคารไทยพาณิชย์และให้ประชาชนกดเข้าไปเพื่ออัปเกรดแอพพลิเคชั่นโอนเงินออนไลน์ เมื่อผู้เสียหายกดเข้าไปที่ลิงค์จะปรากฏหน้าเว็บไซต์ที่มีลักษณะให้กรอกข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทางการเงิน และรหัสผ่านแอพพลิเคชั่น จากนั้นกลุ่มคนร้ายจะนำข้อมูลของผู้เสียหายไปทำการลงทะเบียนแอพพลิเคชั่นของธนาคารที่คนร้ายทำขึ้นมา ระหว่างนั้นจะมีข้อความรหัสรักษาความปลอดภัย OTP ของธนาคารแจ้งไปยังเครื่องผู้เสียหาย เพื่อยืนยันว่าต้องการลงแอพพลิเคชั่นใหม่หรือเพิ่มอีก 1 อัน ซึ่งหากผู้เสียหายไม่ได้อ่านข้อความหรือดูให้แน่ใจ หลงเชื่อนำรหัส OTP ดังกล่าวไปกรอกที่หน้าเว็บไซต์ที่คนร้ายทำไว้ เพราะเข้าใจว่าเป็นกระบวนการอัปเกรดแอพพลิเคชั่นจริง จากนั้นคนร้ายจะสามารถใช้แอพพลิเคชั่นบัญชีธนาคารของผู้เสียหายได้ โดยคนร้ายก็จะโอนเงินจากบัญชีผู้เสียหายเข้ากระเป๋าตัวเอง โดยที่ผ่านมามีผู้เสียหายลักษณะนี้จำนวน 21 คนมูลค่าความเสียหาย 429,180 บาท ผู้เสียหายจึงเข้าแจ้งความที่ตำรวจในสถานีต่างๆ
จากนั้นทางเจ้าหน้าที่ตรำวจก็รวบรวมพยานหลักฐานและทำการจับกุมตัวายวราวุธ และ นายพรสวรรค์ ได้ก่อนหน้านี้ซึ่งทั้งสองมีหน้าที่คอยกดเงินและโอนให้นายยู เชา เหว่ย หัวหน้าแก๊ง ก่อนตำรวจจะขยายผลออกหมายจับนายยู เชา เหว่ย และนายเป่าฉาง ซึ่งหนีมากบดาลที่อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งนายเป่าฉาง นั้นกำลังบวชพระ ได้ 1 วันทางเจ้าหน้าที่ก็นำหมายจับบุกจับคาวัดและจับสึก ก่อนนำตัวมาดำเนินคดีตามกฏหมาย จากการตรวจสอบ พบว่า นาย ยู เชา เหว่ย ยังมีความสัมพันธ์กับกลุ่มแก๊งคอลเซ็นเตอร์ประเทศกัมพูชา เมื่อปี 2560 ซึ่งจะได้ตรวจสอบส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ทางตำรวจภูธรภาค 5 อยากฝากขอเตือนประชาชนให้ระวังการโทรศัพท์สอบถามรหัส OTPของแอพพลิเคชั่นต่างๆ โดยมีข้อสังเกต ดังนี้ประชาชนต้องไม่ควรให้รหัส OTP กับคนที่ไม่รู้จักหรือคนที่โทรมาถามทางโทรศัพท์ไม่ว่าจะอ้างเป็นผู้ใดก็แล้วแต่ ธนาคารทุกธนาคารไม่มีนโยบายที่จะขอ OTP ที่ส่งไปยังโทรศัพท์มือถือของท่าน ไม่ให้ข้อมูลส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นวันเดือนปีเกิด เบอร์โทรศัพท์ ที่อยู่ บัตรประจำตัวประชาชน
หรือบัตรเครดิตลงในโซเชียลเน็ตเวิร์ก ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบข้อความ หรือรูปภาพ ระมัดระวังการทำธุรกรรมเกี่ยวกับการเงินต่างๆ เช่น การกรอกข้อมูลส่วนตัวผ่านทางเว็ปลิ้งที่อ้างเป็นธนาคาร และการมอบสมุดบัญชีพร้อมบัตรอิเล็กทรอนิกส์ให้กับผู้อื่น หรือผู้ปล่อยเงินกู้ ตามเพจต่างๆ ที่ให้เงินกู้ออนไลน์ อย่าเปิดบัญชีให้บุคคลอื่นใช้ หรือรับจ้างเปิดบัญชีธนาคาร อาจจะตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพเพราะจำถูกนำเอาบัญชีไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมายไป
******************* นิวัตร ธาตุอินจันทร์ เชียงใหม่