1

“หมอเมืองล้านนา”

ผ่านเทศกาลส่งท้ายปีเก่าตอนรับปีใหม่ไปแล้ว อากาศพัดเอาลมหนาวมากระทบผิวกายในยามค่ำคืน ส่วนกลางวันอากาศกลับเปลี่ยนแปลงไปคนละขั้วนั้นคือบางวันร้อนอบอ้าว บางวันอากาศลดลงต่ำกว่า 20 องศาเชลเซียลแถมมีลมพัด ทำให้หลายคนมีอากาศป่วยไข้ต้องไปหาหมอเพื่อตรวจรักษาและทานยา แต่ในอดีตนั้นชาวล้านนาก็จะรับประทานยาฝนยาต้มที่หมอเมืองเป็นคนสั่งยาให้ เนื่องจากเมื่อก่อนการเข้าถึงการแพทย์สมัยใหม่นั้นยังไมแพร่หลายและการเดินทางที่แสนลำบาก จึงต้องอาศัยหมอยากลางบ้านหรือ “หมอเมืองผู้มีความรู้ทางสมุนไพรและคาถาอาคมเป็นผู้รักษา

           “หมอเมือง” หมายถึง หมอแผนโบราณ ทำการรักษาโรคภัยไข้เจ็บด้วยวิชาการที่สืบทอดมาจากปู่ย่าตายาย เป็นการรักษาตามประเพณีที่สืบทอดกันมา มีตำราหรือภาษาล้านนาเรียก “ปั๊บ” ตัวอักษรพื้นเมืองเป็นตำรา บอกสูตรยาสมุนไพร และเป็นเครื่องมือในการศึกษาหาความรู้ เป็นภูมิปัญญาล้านนา ถือเป็นมรดกแห่งภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษหลายชั่วอายุคน เรียกว่ามรดกแห่งการรักษา ซึ่งมีระบบการรักษาแบบองค์รวม คือ คำนึงถึง กาย จิต และ วิญญาณ ควบคู่กัน การรักษาแบบหมอเมือง ไม่ได้พึ่งแต่สารสังเคราะห์ที่สมัยใหม่เรียกว่า “ยา” แม้ว่าบางส่วนใช้สารที่ได้จากสมุนไพรในธรรมชาติ แต่หมอเมืองยังรวมไปถึงความเชื่อ จิตวิญญาณ และพลังชุมชนด้วย เรียกได้ว่า เป็นองค์ความรู้แบบองค์รวม โดยมีเป้าหมายคือสันติสุขของบุคคลและชุมชน เรียกว่า “โหราเวชา”

          โหราเวช คือ วิชาพยากรณ์ปูมโรคในร่างกายมนุษย์ก่อนจะทำการรักษา โดยถือเอาตำแหน่งของดาวนพเคราะห์ที่โคจรในเรือนชะตาของแต่ละบุคคล ประกอบด้วยหลักวิชาปรวนแปรของธาตุเจ้าเรือน ภินนะ จรณะ มรณะ และกฎสภาวะ แวดล้อมของธรรมชาติเป็นตัวกำหนด นอกจากนี้ยังสามารถทำนายดวงชะตาของมนุษย์ได้อีก โหราเวชแบ่งวิธีบำบัดรักษาโรคได้ 3 สาขาใหญ่ ๆ คือ 1) เวชมนตรา คือ การรักษาโรคจริตของมนุษย์อันไม่ปรากฏมูลเหตุทางกายภาพที่ชัดเจน เช่น โรคลมพัดลมเพ โรคบริวิตกจริต โรคอันเกิดจากการกระทำทางคุณไสย ต้องพิษผีพิษโป่ง พิษพรายไร้ร่องรอย ผีเข้าเหล้าตือ, 2) เวชปฏิสสะ คือ การรักษาโรคอันปรากฏให้เห็นทางกายภาพจากทวารทั้งสิบของมนุษย์ ใช้วิชาการแพทย์ มีเวชกรรม เภสัชกรรม ผดุงครรภ์ นวดไทย และวิชาอื่น ๆ ในหมวดแพทย์ทางเลือกบำบัดรักษาและแพทย์แผนปัจจุบัน, 3) ญาณเวช คือ การรักษาด้วยสมาธิจิตระดับญาณสัมผัสไม่ต้องสัมผัสทางกายก็สามารถรู้อาการของโรคด้วยญาณทัศนะให้การรักษาอย่างถูกต้อง ส่วนมากจะเป็นครูบาอาจารย์ที่เป็นพระเถระและหมอครูผู้เฒ่าผู้รจนาตำรายาไว้ในสมุดข่อย สมุดไท ปั๊บลาน ปั๊บสา ให้ได้สืบต่อ โหราตะ คือ ผู้ร่ายมนต์ในพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น ศาสนพิธี ลัทธิพิธี ไสยพิธี รู้ศาสตร์ดวงดาวโคจรบนท้องฟ้า รู้ศาสตร์ความเป็นไปในวิถีความเป็นมนุษย์ มีพลังอิธิวิถีในตัวอย่างมาก มีจิตตะวาสะในการหยั่งรู้สูงยิ่ง โหระตะเป็นบุคคลที่หาได้ยาก ปัจจุบันหมอโหราเวชหาได้น้อย เพราะเป็นวิชาที่สืบภายในตระกูล ส่วนหมอโหราพยากรณ์ยังหาได้ในสำนักโหราทั่วไป

          สำหรับวิธีรักษาของหมอเมืองก็จะมีหลายหลายวิธีแล้วแต่อาการของการเจ็บปวด เช่น ตอกเส้นสิบสองไม้ครู,ยาฝนยาต้ม,การย่ำขาง,เป่าคาถา เป็นต้น โดยการรักษาแต่ละชนิดก็จะมีคาถากำกับแตกต่างกันไป

ที่มาข้อมูล สมาพันธ์การแพทย์แผนไทย,ภูมิปัญญาล้านนนา

เรียบเรียงโดย นายคมสัน หน่อคำ