“หมออุ๋ย”เป็นห่วงกลุ่มผู้ผลิตสุรากลั่นชุมชนในจังหวัดแพร่ จึงเชิญคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต ลงพื้นที่ ศึกษาและรับฟังความคิดเห็นกับผู้เกี่ยวข้อง ที่ตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่

วันที่ 22 สิงหาคม 2565 เวลา 11.00 น. ที่วิสาหกิจชุมชนสุราสักทองแพร่ ตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ นายอนุชา นาคาศัย ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ …) พ.ศ….. นำคณะกรรมาธิการฯ ลงพื้นที่ เพื่อศึกษาและรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต โดยมีนายสมหวัง พ่วงบางโพ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ พร้อมด้วยนางสาวนิติยา พงษ์พานิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่นำคณะข้าราชการ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และผู้เกี่ยวข้องให้การต้อนรับและร่วมประชุมดังกล่าว โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้ศึกษาดูงานเกี่ยวกับกระบวนการผลิตและวิธีการดำเนินการของวิสาหกิจชุมชนสุราสักทองแพร่ ที่ประกอบอาชีพผลิตสุรากลั่นชุมชนจนประสบผลสำเร็จ และเข้าร่วมประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ…ของผู้ประกอบการผลิตสุราในจังหวัดแพร่และจังหวัดใกล้เคียง ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลสะเอียบ

สำหรับสาระสำคัญร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ….สรุปได้คือ พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป , การแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับการขออนุญาตผลิตสุราเพื่อการค้า ความในมาตรา 153 แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา 153 ผู้ใดประสงค์จะผลิตสุราเพื่อการค้า ให้ยื่นคำขออนุญาตต่ออธิบดีและต้องปฏิบัติติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด การขออนุญาตและออกใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในกฎกระทรวง
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามวรรคสอง ต้องไม่กำหนดคุณสมบัติของผู้ขอเกี่ยวกับขนาดกำลังการผลิตแรงม้าเครื่องจักร จำนวนพนักงาน หรือประเภทบุคคลผู้มีสิทธิขออนุญาต กรณีผู้ขออนุญาติเป็นบริษัท ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยต้องไม่กำหนดจำนวนทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ ยกเว้นการกำหนดสัดส่วนผู้ถือหุ้นสัญชาติไทย , ใบอนุญาตที่ออกตามมาตรานี้ให้มีอายุสามปีนับแต่วันที่ได้รับอนุญาต
ข้อมูลการจัดเก็บภาษีสุราของจังหวัดแพร่ ปีงบประมาณ 2563 มีโรงงานสุรากลั่น 202 แห่ง สุราแช่ 7 แห่ง รวม 209 แห่ง เก็บภาษี 463,942,264.00 บาท ปีงบประมาณ 2564 มีโรงงานสุรากลั่น 206 แห่ง สุราแช่ 6 แห่ง รวม 212 แห่ง เก็บภาษี 440,024,649.83 บาท ปีงบประมาณ 2565 มีโรงงานสุรากลั่น 203 แห่ง สุราแช่ 7 แห่ง รวม 210 แห่ง เก็บภาษี 326,619,052.25 บาท ซึ่งเป็นภาษีที่รัฐจัดเก็บได้ตามกฎหมายสำหรับผู้ประกอบการผลิตสุรา เพื่อการค้า ในพื้นที่ของจังหวัดแพร่
ด้านชมรมอนุรักษ์ภูมิปัญญาสุราพื้นบ้าน ตำบลสะเอียบ ได้ยื่นข้อเสนอต่อคณะกรรมาธิการฯ ร่าง พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต โดยขอแก้ไขเพิ่มเติม ข้อความในมาตรา 153 ให้การผลิตสุราสามารถกระทำได้โดยทั่วไปหรือผลิตเพื่อการค้าให้ยื่นคำขอต่ออธิบดีและต้องปฏิบัติติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่อธิบดีกำหนดนั้น เสนอให้ตัดข้อความผู้ใดประสงค์จะผลิตสุราเพื่อการค้า ออก เป็นให้การกำหนดเงื่อนไขในการผลิตสุราควรกำหนดไว้ 2 ประเภท ดังนี้และให้ใช้ข้อความนี้แทน 1. บุคคลใดประสงค์จะผลิตสุราอันเป็นการประกอบอาชีพสุจริตต้องอยู่กายใต้กฎหมายภาษีสรรพสามิต พ.ร.บ. 2560 และมีหลักเกณฑ์ควบคุมให้ชัดเจนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง 2. และกำหนดให้หากผู้ใดต้องการผลิตเพื่อบริโภคดื่มกินต้องขออนุญาตและมีหลักเกณฑ์อยู่ภายใต้ในการควบคุมของเจ้าหน้าที่สรรพสามิตให้ชัดเจนหรือห้ามจำหน่าย ง่าย แจก ตาม พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ชมรมอนุรักษ์ภูมิปัญญาสุราพื้นบ้าน ตำบลสะเอียบ ยังเสนออีกว่า การที่ผู้ใดจะผลิตสุราได้แบบเสรีโดยทั่วไป โดยไม่ได้รับอนุญาตนั้นจะส่งผกระทบคือ การผลิตสุราที่ไม่ได้มาตรฐานและไม่ได้แยกสารปนเปื้อนต่างๆ อาจส่งผลให้มีอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค , เครื่องกลั่นและภาชนะที่จะนำมาผลิตสุรานั้นอาจไม่ได้มาตรฐานในการผลิตสุรา อาจจะเกิดการสูญเสียได้ , อาจทำให้เกิดปัญหาภายในครอบครัว การทะเลาะวิวาท และปัญหาอาชญากรรมเพิ่มมากขึ้น , อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุเพิ่มมากขึ้น , ปัญหาต่อกลุ่มเยาวชน และส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษีของทางภาครัฐลดลง
ส่วนข้อดีของการผลิตสุรากลั่นชุมชนของชมรมอนุรักษ์ภูมิปัญญาสุราพื้นบ้าน ตำบลสะเอียบ คือ มีการส่งตรวจวิเคราะห์คุณภาพสุรา ทุกๆ 3 ปี และส่งตรวจวิเคราะห์คุณภาพและมาตรฐานกับทางอุตสาหกรรมทุกๆ 1 ปี จึงทำให้การผลิตสุรากลั่นชุมชนมีมาตรฐานในการผลิตและปลอดภัยไม่อันตรายต่อผู้บริโภค , เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้ให้กับชุมชนระดับรากหญ้าให้มีอาชีพทำกินโดยสุจริตและถูกต้องตามกฎหมายและยังคงความอนุรักษ์ภูมิปัญญาสุราพื้นบ้านไว้สืบทอดต่อไป , มีการพัฒนาส่งเสริมในด้านการศึกษา คุณภาพชีวิตและวัฒนธรรมในท้องถิ่นให้อยู่อย่างยั่งยืน , รัฐสามารถจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นและนำภาษีที่ได้เพื่อกลับมาพัฒนาในท้องถิ่น และส่งเสริมให้ชุมชนมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม