1

เกษตรกรพังงารุ่นใหม่ผู้เดินตามรอยของพ่อหลวงจนประสบความสำเร็จ นำเนื้อที่ 4 ไร่ สร้างสวนเกษตรทฤษฎีใหม่เป็นศูนย์เรียนรู้เชิงท่องเที่ยวและจุดเช็คอิน เปิดรับนักท่องเที่ยวเข้าชมสร้างรายได้ให้ครอบครัว

นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา พร้อมด้วยนางวิภาดา ทิพญพงศ์ธาดา ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดพังงา เกษตรอำเภอเมืองพังงาและผู้นำท้องที่ ได้เยี่ยมชมสวนเกษตรทฤษฎีใหม่ของนายวินัย รัตน์ไทรแก้ว อายุ 40 ปี ประธานกลุ่มเกษตรรุ่นใหม่ ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ (Young Smart Farmer) ม.1 ต.ตากแดด อ.เมืองพังงา จ.พังงา ที่เดินตามรอยพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้วยการนำที่ดิน 4 ไร่ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยทำสวนยางพารามาก่อนแต่เนื่องจากราคาผันผวนขึ้นลงไม่คงที่จึงตัดสินใจโค่นต้นยางทิ้งแล้วหันมาทำเกษตรแบบผสมผสานตามรอยของพ่อหลวง พร้อมกับเริ่มต้นศึกษาข้อมูลการทำการเกษตรสมาร์ทฟาร์มเมอร์อย่างจริงจังและแสวงหาความรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆในด้านเกษตรอินทรีย์กับกลุ่มสมาร์ทฟาร์มเมอร์ สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองพังงา และสำนักงานเกษตรจังหวัดพังงา ด้วยแนวคิดการทำเกษตรให้แตกต่างจากเกษตรกรคนอื่น สร้างจุดเด่นให้กับสวนของตนเองให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร พร้อมเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับชาวบ้าน นักเรียนนักศึกษา เกษตรกร คนชุมชน และนักท่องเที่ยว
นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา ได้เดินเยี่ยมชมภายในสวนและเห็นว่าอยากให้ชาวบ้านรวมทั้งเกษตรกรทั่วไปได้นำไปเป็นแนวทางในการทำการเกษตรให้เหมาะสมกับพื้นที่ของตนเอง ปลูกพืชผักชนิดต่างๆหรือผักสวนครัวไว้บริโภคในครัวเรือนโดยที่ไม่ต้องซื้อ หากผลผลิตเยอะก็นำไปแบ่งปันเพื่อนบ้านหรือนำไปจำหน่าย ซึ่งก็ช่วยลดรายจ่ายสร้างรายได้เข้าครัวเรือนได้อีกทางหนึ่ง

**เสียง CG จำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา 29 วินาที

นายวินัย เล่าว่า ได้แบ่งพื้นที่เป็นออกส่วนๆ ทำการปลูกส้มเขียวหวานพันธ์ต่างๆกว่า 200 ต้น ปลูกแซมระหว่างต้นด้วยมะละกอ มะนาวแป้น ส้มโอ พริก มะเขือ ฟักทอง ปลูกพืชผักต่างๆหลากหลายชนิด โดยเน้นความสำคัญในการทำเกษตรแบบอินทรีย์ รวมทั้งได้ขุดบ่อน้ำเลี้ยงปลา สูบน้ำในบ่อมาใช้ภายในสวน เลี้ยงไก่ไข่ เก็บผลผลิตจำหน่ายทำให้มีรายได้เข้าสู่ครอบครัวทุกวัน หนึ่งในผลผลิตที่ทำให้สวนถุงแป้งเป็นที่รู้จัก คือ มะนาวแป้นพวงพังงา โดยตนได้นำมะนาวพันธุ์โคตรดกสุพรรณ ปลูกไว้รวมกับมะนาวพันธุ์พื้นเมืองของพังงา กระทั่งสังเกตพบว่ามีต้นแตกหน่อขึ้นมามีลูกดก ผลโต กลิ่นหอมแบบมะนาวพื้นเมือง เป็นช่อคล้ายพวงองุ่น ผลดก มีน้ำเยอะ รสชาติดี ออกผลตลอดทั้งปี จึงขยายพันธุ์โดยการตอนกิ่ง ปัจจุบันสามารถขยายได้จำนวนมาก เนื่องจากตลาดมีความต้องการสูง
ส่วนส้มเขียวหวานและส้มโชกุนที่ปลูกมาเป็นปีที่ 5 มีความสมบูรณ์เป็นอย่างมาก การออกดอกแต่ละรุ่นที่เป็นส้มปีจะทยอยออกหลายชุด ทำให้ได้ผลแก่เก็บเกี่ยวได้ปีละ 3 เดือน ตั้งแต่ ธ.ค.- ก.พ. ซึ่งในช่วงนี้ออกผลเต็มต้นและเริ่มสุกมีสีสันสวยงาม จึงได้เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม ประกอบสวนถุงแป้งเป็นสวนต้นแบบที่เปิดให้มีการศึกษาเรียนรู้ด้วย ทำให้กลายเป็นจุดเช็คอินที่ยังคงติดกระแสและช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวเชิงเกษตรดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่ สร้างรายได้เป็นอย่างดี โดยทางสวนถุงแป้งจะเก็บค่าเข้าชมสวนส้มคนละ 20 บาท เฉพาะผู้ใหญ่ ส่วนเด็กเข้าชมฟรี มีบริการหมวกกับตะกร้าไว้สำหรับถ่ายภาพกับผลส้มฟรี นอกจากนี้ยังมีน้ำส้มคั้นสดๆ ส้มสดๆจากต้น และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่ปลูกภายในสวนไว้จำหน่ายในราคาย่อมเยาอีกด้วย
ปัจจุบันสวนถุงแป้งมีการรับรองมาตรฐาน GAP จากกรมวิชาการเกษตร ภายในสวนจะปลูกพืชแบบเอื้อต่อกัน โดยแบ่งเป็นพืชผักสร้างรายได้ประจำวัน เช่น ถั่วฝักยาว บวบ มะเขือ มะนาวแป้นพวงพังงา ส่วนรายได้ต่อเดือนจะเป็นพวก กล้วย มะละกอ ขนุน ส่วนรายได้รายปีก็จะมีส้มและทุเรียนเป็นหลัก และมีรายได้เสริมจากการผลิตพันธุ์ไม้ตามสั่งของลูกค้า ทำให้ปัจจุบันครอบครัวมีความสุขจากการได้อยู่กันพร้อมหน้าเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์ตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง