1

ขนมจีน

ขนมจีน เป็นอาหารคาวชนิดหนึ่ง ทำมาจากแป้งเป็นเส้นกลมๆ ทานคู่กับน้ำยา น้ำพริก แกงเขียวหวาน แกงไก่ แกงไตปลา น้ำเงี้ยวในแบบเหนือ หรือจะกินกับน้ำปลา หรือซีอิ๊ว เป็นต้น  แม้ว่า ขนมจีน จะมีคำว่า “ขนม” แต่ก็ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับขนมใดๆ ขณะเดียวกัน แม้จะมีคำว่า “จีน” แต่ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอาหารของจีนอาหารชนิดนี้ ภาษาเหนือเรียก“ขนมเส้น” ภาษาอีสานเรียก “ข้าวปุ้น” และภาคใต้เรียก “หนมจีน”

          จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้กล่าวถึงที่มาของขนมจีนไว้ว่า ขนมจีนเป็นอาหารพื้นบ้านของ ชาวมอญ ซึ่งชาวมอญจะคุ้นเคยกันในชื่อ “คนอมจิน” หรือ “คนอม” ที่หมายถึง กริยาจับให้เป็นกลุ่มเป็นก้อน ส่วน “จิน” แปลว่า นำไปทำให้สุกโดยการหุงต้ม ทั้งหมดนี้จึงถูกสันนิษฐานว่า ขนมจีนน่าจะเป็นอาหารที่ชาวมอญนิยมรับประทาน และด้วยความอร่อยของขนมจีน ต่อมาก็อาจจะแพร่ขยายไปยังประเทศต่าง ๆ ในละแวกใกล้เคียง จนเป็นที่รู้จัก และอาจจะเรียกชื่อเพี้ยนต่อ ๆ กันมานั่นเอง

          สำหรับเส้นขนมจีนแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ

1. ขนมจีนแป้งหมัก เป็นเส้นขนมจีนที่นิยมทำทางภาคอีสาน เส้นมีสีคล้ำออกน้ำตาล เหนียวนุ่มกว่าขนมจีนแป้งสด และเก็บไว้ได้นานกว่า ไม่เสียง่าย การทำขนมจีนแป้งหมักเป็นวิธีการทำเส้นขนมจีนแบบโบราณ ต้องเลือกใช้ข้าวแข็ง คือข้าวที่เรียกว่า ข้าวหนัก เช่น ข้าวเล็บมือนาง ข้าวปิ่นแก้ว ข้าวพลวง ถ้าข้าวยิ่งแข็งจะยิ่งดี เวลาทำขนมจีนแล้ว ทำให้ได้เส้นขนมจีนที่เหนียวเป็นพิเศษ นอกจากนี้แหล่งน้ำธรรมชาติก็เป็นสิ่งสำคัญ ต้องใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ จากคลองชลประทาน หรือน้ำบาดาล ไม่ควรใช้น้ำประปา เพราะเส้นขนมจีนจะเละทำให้จับเส้นไม่ได้ ไม่น่ากิน

2 .ขนมจีนแป้งสด ใช้วิธีการผสมแป้ง ขนมจีนแป้งสด เส้นจะมีขนาดใหญ่กว่าขนมจีนแป้งหมัก เส้นมีสีขาว อุ้มน้ำมากกว่า ตัวเส้นนุ่ม แต่จะเหนียวน้อยกว่าแป้งหมัก วิธีทำจะคล้ายๆกับขนมจีนแป้งหมัก แต่จะทำง่ายกว่าเพราะไม่ต้องแช่ข้าวหลายวัน และได้เส้นขนมจีนที่มีสีขาว น่ากิน การเลือกซื้อขนมจีนแป้งสด ควรเลือกที่ทำใหม่ ๆ เส้นจับวางเรียงตัวกันอย่างเป็นระเบียบ เส้นขนมจีนไม่ขาด ดมดูไม่มีกลิ่นเหม็นแป้ง ไม่มีเมือก ขนมจีนแป้งสดจะเก็บได้ไม่นาน ควรนำมานึ่งก่อนกิน

          คนไทยนิยมกินขนมจีนมาก โดยเมื่อเรียงจับขนมจีนลงในจับแล้ว ผู้กินจะราดน้ำยาลงไปบนเส้นขนมจีนให้ทั่ว น้ำยาขนมจีนนั้น มีลักษณะคล้ายน้ำแกง ไม่เหลวจนเกินไป ใช้ราดไปบนเส้นขนมจีนในจาน แต่ละท้องถิ่นจะมีน้ำยาแตกต่างกันไป และยังมีเครื่องเคียงเป็นผักสดและผักดอง ตามรสนิยมในแต่ละท้องถิ่น เครื่องเคียงประเภททอด เช่น ทอดมัน ดอกไม้ทอด หรืออื่น ๆ ตามแต่ความชอบและความนิยมในแต่ละภาค……..

ที่มาข้อมูล วิกิพิเดีย, https://sites.google.com/site/khnmcinthiy/prawati-khnmcin,snook.com

เรียบเรียงโดย นายคมสัน หน่อคำ