กรมอุทยานแห่งชาติฯ 19 ปี บนเส้นทางการอนุรักษ์ “ธรรมชาติสมดุล ป่าไม้เป็นทุน เกื้อหนุนสัตว์ป่า”
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เตรียมจัดงานวันคล้ายวันสถาปนากรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ครบรอบ 19 ปี ภายใต้แนวคิด “ธรรมชาติสมดุล ป่าไม้เป็นทุน เกื้อหนุนสัตว์ป่า” ที่ให้ความสำคัญกับปฏิบัติงานแบบบูรณาการโดยสร้างการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน ในการอนุรักษ์ คุ้มครอง และฟื้นฟู ตลอดจนส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยยึดนโยบายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนโยบายรัฐบาล ยกกำลัง 2 บวก 4 ทั้งนี้ เพื่อเป็นการระลึกถึงการก่อตั้งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมทั้งรำลึกถึงวีรชนชาวป่าไม้ที่ร่วมรักษาทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ รวมทั้งเป็นการประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ผลงานของกรมอุทยานแห่งชาติฯ สู่สาธารณชน ตลอดจนแสดงความขอบคุณแก่บุคคลหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ที่สนับสนุนการทำงานของกรมอุทยานแห่งชาติฯ มาโดยตลอด
กรมอุทยานแห่งชาติฯ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2545 ในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีภารกิจเกี่ยวกับการอนุรักษ์ ส่งเสริม และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในเขตพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ โดยการควบคุม ป้องกัน พื้นที่ป่าอนุรักษ์เดิมที่มีอยู่ และพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมให้กลับสมบูรณ์ ด้วยกลยุทธ์การส่งเสริม กระตุ้น และปลุกจิตสำนึกให้ชุมชนมีความรู้สึกหวงแหน และการมีส่วนร่วมในการดูแลทรัพยากรท้องถิ่น เพื่อเป็นการรักษาสมดุลของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนความหลากหลายทางชีวภาพ สำหรับเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร แหล่งที่อยู่อาศัย ของสัตว์ป่า แหล่งอาหาร นันทนาการ และการท่องเที่ยวทางธรรมชาติของประชาชน
ในปี 2564 ที่ผ่านมา ถือเป็นความภาคภูมิใจและความสำเร็จของคนไทยทั้งประเทศ เนื่องจากได้มีการประกาศขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ นับเป็นมรดกโลกลำดับที่ 6 ของประเทศไทย และเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งที่ 3 ในประเทศไทย มีการรับรับรอง อุทยานแห่งชาติเขาสก จ.สุราษฎร์ธานี ให้เป็นอุทยานที่มีความสำคัญระดับอาเซียน ลำดับที่ 50 และถือเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน ลำดับที่ 7 ของประเทศไทย ล่าสุดองค์การยูเนสโกลงมติรับรอง “ดอยเชียงดาว” เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล ลำดับที่ 5 ของประเทศไทย นอกจากนี้ ยังประกาศวนอุทยานตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 อีกจำนวน 91 แห่ง เพื่อคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมกับเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ธรรมชาติ และนันทนาการของประชาชน พร้อมกับการพัฒนาอุทยานแห่งชาติ ปัจจุบัน มีอุทยานแห่งชาติผ่านการรับรองมาตรฐานการเป็นอุทยานแห่งชาติสีเขียวทั้งสิ้น 102 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 66 ของอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นความสำเร็จในการขับเคลื่อนการจัดการอุทยานแห่งชาติที่มุ่งสู่การจัดการบนพื้นฐานของความยั่งยืน
ผลสำเร็จของการดำเนินงานด้านต่างๆ อาทิ การแก้ไขปัญหาชุมชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ตาม “แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎรในเขตป่าอนุรักษ์” นับเป็นประวัติศาสตร์ของการอนุรักษ์ป่าไม้เมืองไทย ที่กำหนดให้ราษฎร เกื้อกูลธรรมชาติ ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และคนอยู่กับป่า ตามแนวพระราชดำริ อันเป็นวาระการปฏิรูปเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎร ในเขตป่าอนุรักษ์ที่เป็นรูปธรรมครั้งแรกของประเทศไทย มีการพัฒนา ระบบติดตามการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ด้วยการประมวลผลข้อมูลจากดาวเทียม สำรวจทรัพยากรธรรมชาติ ตามแผนปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องทรัพยากรทางบก ติดตามและตรวจสอบสภาพป่าไม้โดยใช้เทคโนโลยีภูมิศาสตร์บันทึกข้อมูลทรัพยากรป่าไม้ใกล้เวลาจริง เพื่อเป็นการหยุดยั้งการบุกรุกทำลายป่า มีผลงานการวิจัยสำคัญ เช่น การพบมวนน้ำชนิดพันธุ์ใหม่ของโลก ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ การพัฒนาดัชนีชีวภาพสำหรับการประเมินและติดตามความสมบูรณ์ของระบบนิเวศแหล่งน้ำไหล และการค้นพบข้อมูลใหม่ของ “ต้นรวงผึ้ง” ไม้หายากและใกล้สูญพันธุ์ของโลก ในถิ่นอาศัยป่าธรรมชาติผืนสุดท้ายของจังหวัดพิจิตร เป็นต้น มีการส่งเสริมและให้ความสำคัญกับการเปิดโอกาสให้ประชาชน และภาคส่วนอื่นเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารราชการอย่างต่อเนื่อง โดยได้จัดตั้งเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์อุทยานแห่งชาติฯ หรือ อส.อส. ซึ่งเป็นเครือข่ายภาคประชาชนที่อยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงานในสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติฯ โดยได้รับรางวัลเลิศรัฐ ระดับดีเด่น “รวมพลังชุมชนสร้างป่า พัฒนากาแฟสร้างชีวิต สู่ความยั่งยืนบ้านปางขอน” และรางวัลเลิศรัฐ สาขาบริการภาครัฐ ด้านการยกระดับการอำนวยความสะดวกในการให้บริการ โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางในการให้บริการ รวมทั้งรางวัลการยกระดับการพัฒนาหน่วยงานภาครัฐสู่รัฐบาลดิจิทัล “DG Award 2021” ดีเด่น ด้านการใช้ธรรมภิบาลข้อมูลภาครัฐ
นอกจากนี้ ได้พัฒนาแหล่งน้ำบาดาลด้วยระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ สามารถพัฒนาน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ได้ไม่น้อยกว่า 989,880 ลบ.ม./ปี และสร้างฝายชะลอน้ำ การจัดการพื้นที่แนวกันชน หรือจุดพักช้าง โดยการจัดตั้งป่าชุมชน ปลูกพืชเศรษฐกิจ พืชอาหารสัตว์ป่าและพืชสมุนไพร พัฒนาพื้นที่หมู่บ้านคชานุรักษ์ พร้อมปรับปรุงแหล่งน้ำเดิม และพัฒนาแหล่งสำรองน้ำเพิ่มให้ประชาชน เพื่อเป็นแหล่งน้ำอุปโภค-บริโภค และใช้ในการเกษตร ในส่วนของมาตรการป้องกันไฟป่า เน้นสร้างความร่วมมือ การมีส่วนร่วม และความเข้าใจกับประชาชน มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยสำหรับการปฏิบัติงาน ได้แก่ โดรน UAV อุปกรณ์ดับไฟ และอากาศยาน แอปพลิเคชัน “FiremanTH” สำหรับการบัญชาการ แอปพลิเคชัน “Burn Check” บริหารจัดการเชื้อเพลิง เร่งรัดดำเนินโครงการปลูกป่า และป้องกันไฟป่า เร่งแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนระหว่างประเทศ รวมทั้ง ดำเนินโครงการปลูกป่าและป้องกันไฟป่า โดยมีหัวใจสำคัญ คือ การบูรณาการร่วมกันจากทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันได้อย่างยั่งยืน
วันคล้ายวันสถาปนากรมอุทยานแห่งชาติฯ ครบรอบ 19 ปี จะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 2 ตุลาคม 2564 ณ กรมอุทยานแห่งชาติฯ กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย พิธีบูชาพระพุทธไตรสสตวรรษนุสรณ์ ท้าวมหาพรหม พิธีถวายเครื่องราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พิธีสดุดี และวางพวงมาลาอนุสาวรีย์วีรชนป่าไม้ พิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ รวมทั้ง การนำเสนอผลงานกรมอุทยานแห่งชาติฯ ครบรอบ 19 ปี และพิธีมอบโล่และรางวัล ประกอบด้วย เครื่องหมายเชิดชูเกียรติพิทักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ข้าราชการเกษียณอายุราชการอำนวยการระดับสูง ข้าราชการพลเรือน และลูกจ้างประจำ ดีเด่น ประจำปี 2564 และผู้ช่วยเหลือราชการ กรมอุทยานแห่งชาติฯ สามารถติดตามการถ่ายทอดสดการจัดงานได้ที่ Facebook Fanpage ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และ Facebook Fanpage กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช