จรัล มโนเพ็ชร ศิลปินแห่งล้านนา เรียบเรียงโดย นายคมสัน หน่อคำ
วันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2544 เป็นวันจากไปของศิลปินผู้ยิ่งใหญ่แห่งล้านนา จรัล มโนเพ็ชร ผู้เป็นทั้งนักร้อง นักดนตรี นักแต่งเพลง และนักแสดง ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นศิลปินผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคสมัย โดยมีเพลง “โฟล์กซองคำเมือง” เป็นผลงานอันโดดเด่นและมีเอกลักษณ์ ที่ก่อเกิดขึ้นนับแต่ปี พ.ศ. 2520 และได้รับความสนใจจนเป็นที่ยอมรับ และกลายเป็นแบบอย่างบนแนวทางดนตรีท้องถิ่นร่วมสมัยในปัจจุบัน
โฟล์กซองคำเมืองของจรัลไม่เพียงได้รับความนิยมชมชอบจากชาวเหนือหรือชาวล้านนา ซึ่งเข้าใจภาษาคำเมืองภาษาท้องถิ่นของตน แต่ยังเป็นที่ชื่นชอบของชาวไทยภาคอื่น ๆ ไปจนถึงชาวต่างชาติที่สนใจในศิลปะการดนตรี เอกลักษณ์ของเขาทั้งในการแต่งเพลง ร้องเพลง และเล่นดนตรี ทำให้จรัลได้รับการยกย่องให้เป็น “ราชาโฟล์กซองคำเมือง” จรัลแต่งเพลงไว้กว่าสองร้อยเพลงในช่วงเวลาราวยี่สิบห้าปีของชีวิตศิลปินของเขา เป็นบทเพลงที่งดงามด้วยการใช้ภาษาเยี่ยงกวี จนทำให้เขาได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เมื่อปี พ.ศ. 2537 ในฐานะ “บุคคลดีเด่นทางด้านการใช้ภาษา”
จรัลเกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2494 เป็นลูกคนที่สอง มีพี่น้องชายหญิงรวมทั้งหมด 7 คน ครอบครัวเป็นชนชั้นกลาง มีชีวิตเรียบง่ายสมถะตามแบบวิถีชีวิตชาวเหนือทั่วไป ใฝ่ใจในพุทธศาสนา ด้วยครอบครัวมโนเพ็ชรเป็นครอบครัวใหญ่ พ่อของจรัลจึงต้องหารายได้พิเศษ ความที่เป็นคนมีฝีมือในด้านงานศิลปะหัตถกรรมท้องถิ่นที่สืบทอดตกมาจากบรรพบุรุษชาวเหนือ ทั้งการเขียนรูป และการแกะสลักไม้ พ่อของจรัลจึงมีรายได้เพียงพอที่จะเลี้ยงดูครอบครัว จรัลเองในเวลานั้นแม้จะอยู่ในวัยเด็ก แต่บางครั้งเมื่อพ่อมีงานพิเศษล้นมือ จรัลจะเป็นผู้ช่วยพ่อของเขา ทั้งงานเขียนรูปและงานแกะสลักไม้
จรัลเริ่มฝึกเล่นกีตาร์มาตั้งแต่เด็กเพราะความชอบในดนตรี ทั้งจากที่เขาได้ฟังทางสถานีวิทยุในเชียงใหม่ และจากพวกมิชชันนารีที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาในภาคเหนือ ระหว่างที่เรียนอยู่ที่วิทยาลัยเทคนิคภาคพายัพ จรัลช่วยแบ่งเบาภาระของครอบครัวด้วยการทำงานเพื่อหารายได้พิเศษโดยไม่ต้องรบกวนเงินทองจากทางบ้าน เขาเริ่มต้นด้วยการรับจ้างร้องเพลงและเล่นกีตาร์ตามร้านอาหาร หรือตามคลับตามบาร์ในเชียงใหม่ ซึ่งในเวลานั้นยังมีอยู่เพียงไม่กี่แห่ง แนวดนตรีที่เขาชอบเป็นพิเศษคือดนตรีโฟล์ค คันทรี และบลูส์ ที่ต่อมาได้กลายเป็นแรงบันดาลใจและมีอิทธิพลอย่างยิ่งในการแต่งเพลงของเขา
เมื่อจบการศึกษาจากวิทยาลัย จรัลยังคงทำงานประจำไปด้วยควบคู่กับการร้องเพลงตามร้านอาหาร ตามโรงแรมและคลับบาร์ในเชียงใหม่
ข่าวการเสียชีวิตของจรัลจากการที่หัวใจล้มเหลวฉับพลัน เมื่อย่ำรุ่งของวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2544 จังหวัดลำพูน สร้างความตื่นตะลึงไปทั่วประเทศ ผู้คนจำนวนมากจากทุกวงการเดินทางไปคารวะศพของเขา แม้จรัลจะเสียชีวิตไปแล้วแต่บทเพลงของเขานับร้อยเพลงนั้นยังคงเป็นอมตะ ผู้คนยังคงฟังเพลงของเขาอยู่ไม่เสื่อมคลาย
ที่มาข้อมูล วิกิพีเดีย