1

ศาลแพ่งรับคำร้อง-ไต่สวนฉุกเฉินหลัง 12 สำนักข่าวยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี-ผอ.ศบค.ให้เพิกถอนคำสั่งคุกคาม-ปิดปากสื่อ

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564 น.ส.ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ก่อตั้ง สำนักข่าว The Reporters ได้ร่วมกับ ภาคีนักกฏหมายสิทธิมนุษยชน และ 12 สื่อ ประกอบด้วย The Reporters ,The Momentum , Voice,echo,The Standard,The Matter,ประชาไท,Demall,The People,Way Maxgazine,The People,Plus Seven และประชาชนเบียร์
ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ ผอ.ศบค. ขอให้เพิกถอน ข้อกำหนดฉบับที่ 29
ให้อำนาจ กสทช. “ตัดเน็ต” ผู้โพสต์ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว ซึ่งเป็นการออกคำสั่งโดยไม่มีอำนาจ ไม่มีความจำเป็น ไม่ได้สัดส่วน และขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560

น.ส.ฐปณีย์กล่าวว่า ในฐานะ สำนักข่าว The Reporters เป็นองค์กรสื่อ ที่เผยแพร่ข่าวสารผ่านอินเตอร์เน็ต และในฐานะส่วนตัวที่เป็น สื่อมวลชน เป็นนักข่าว และในฐานะประชาชน ที่สื่อสารผ่านอินเตอร์เน็ต ด้วยการใช้เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม และยูทูบ จึงเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากข้อกำหนดนี้ เพราะเห็นว่า ข้อกำหนดที่ระบุว่า ห้ามเผยแพร่ “ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว” เป็นข้อกำหนดที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ละเมิดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน ละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน และละเมิดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไร้ซึ่งหัวใจความเป็นมนุษย์

“สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เฉพาะในเดือนกรกฏาคม ที่มีผู้ติดเชื้อ337,986 ราย เสียชีวิต 2,834 ราย เป็นสถานการณ์ที่รุนแรง และน่ากลัว โดยข้อเท็จจริงอย่างปฏิเสธไม่ได้ จากการพบผู้เสียชีวิตนอนตายริมถนน เสียชีวิตคาบ้านพัก และมีผู้รอเข้ารับการรักษา ที่ไม่สามารถเข้าถึงโรงพยาบาล เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจริง ในฐานะสื่อมวลชนที่มีจรรยาบรรณและจริยธรรมในวิชาชีพ เมื่อได้รับทราบข่าว จากภาพข่าว หรือการแจ้งข่าวจากมูลนิธิกู้ภัย หรือ กลุ่มอาสาต่างๆ ดิฉันไม่เคยนำเสนอข่าวไปโดยไม่ได้รับการตรวจสอบ แต่ดิฉันลงพื้นที่ไปตรวจสอบข้อเท็จจริง ร่วมกับผู้เกี่ยวข้องทุกครั้ง ก่อนนำเสนอข่าว ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าข้อความที่ระบุเช่น มีผู้เสียชีวิต เป็นผู้สูงอายุ เป็นคนไข้ติดเตียง ต้องเสียชีวิตในบ้านพัก เพราะติดต่อหน่วยงานใดไม่ได้ หรือไม่สามารถส่งถังออกซิเจน ไปช่วยเหลือได้ทัน และมีภรรยา น้อง หรือ ลูก ต้องนอนเฝ้าศพในบ้านเป็นเวลานับวัน หรือ บางกรณี ต้องนอนเฝ้าศพถึง 6 วัน”ผู้ก่อตั้งสำนักข่าว The Reporters กล่าว

น.ส.ฐปณีย์กล่าวว่า ข้อกำหนดฉบับที่ 29 ที่นอกจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนแล้ว ยังละเมิดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และไร้ซึ่งหัวใจความเป็นมนุษย์ เพราะการที่ประชาชนส่งเสียง ร้องขอความช่วยเหลือ ร้องขอชีวิต จากความตายที่มาจากการไม่ได้เข้ารักการรักษา เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ที่มุ่งหวังเพียงเพื่อช่วยกันรักษาชีวิตของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเท่านั้น และปฏิเสธไม่ได้ว่า การส่งเสียงเหล่านี้มาจากความหวาดกลัวจากโรคระบาดนั้น นอกจากนี้หากรัฐ ใช้กฏหมายมาปิดกั้นการนำเสนอข่าว หรือการพูดข้อเท็จจริงเหล่านี้ ก็ถือเป็นการปิดกั้นการเข้าถึงการช่วยเหลือ การเข้าถึงการรักษา การเข้าถึงความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน อันจะยิ่งทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว และเป็นอันตรายต่อชีวิต

“รัฐสามารถใช้กฏหมายที่มีอยู่เพื่อจัดการกับข่าวปลอม หรือ Fake News ได้ รัฐสามารถใช้การสื่อสารของรัฐที่มีอยู่ในการสร้างความเข้าใจกับประชาชน ในการให้ความรู้กับประชาชน และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน รัฐสามารถใช้อำนาจรัฐในการเปิดช่องทางให้ประชาชนได้เข้าถึงการส่งข้อมูลถึงรัฐโดยตรงรัฐสามารถให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาได้มากกว่านี้ ไม่ใช่การมาปิดกันช่องทางให้ประชาชนได้ร้องขอชีวิต ด้วยการออกข้อกำหนดที่ยิ่งสร้างความกลัวในสังคมเช่นนี้”น.ส.ฐปณีย์ กล่าว

ขณะที่กลุ่มอาจารย์คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกแถลงการณ์ขอให้ยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพทางการแสดงความคิดเห็นของประชาชน และการทำงานของสื่อมวลชน โดยระบุว่านับตั้งแต่มีการประกาศข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 27 และ ฉบับที่ 29 อันมีใจความสำคัญไม่ให้ประชาชนและสื่อมวลชนได้แสดงความคิดเห็นที่อยู่บนฐานของข้อเท็จจริงอย่างชัดเจน ดังนั้น เพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งเสรีภาพในการสื่อสารอันเป็นพื้นฐานสำคัญของสังคมประชาธิปไตย คณาจารย์ดังรายชื่อแนบท้าย ขอแถลงดังนี้
.

  1. ข้อกำหนดดังกล่าวปรากฏเจตนาชัดว่ารัฐบาลต้องการควบคุมการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและการทำงานของสื่อมวลชนในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ผ่านการกำหนดโทษสำหรับการส่งต่อ ‘ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว’ ซึ่งการกำหนดให้การกระทำเหล่านี้มีความผิด เป็นการตีความถ้อยคำอย่างกว้าง กำกวม ไม่ชัดเจน และเปิดโอกาสให้การพิจารณานั้นอาศัยเพียงดุลยพินิจของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐมากเกินสมควร จนอาจกล่าวได้ว่าเมื่อไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนว่าการกระทำใดบ้างที่เข้าข่ายการกระทำผิดตามข้อกำหนด รัฐบาลก็สามารถชี้ว่าการเผยแพร่ข้อมูลใดเป็นการสร้างความหวาดกลัว และใช้อำนาจในการลงโทษผู้เผยแพร่ข้อมูลเหล่านั้นโดยทันที
    .
  2. การออกข้อกำหนดเช่นนี้ย่อมขัดต่อสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ขัดต่อหลักสากลอันว่าด้วยสิทธิมนุษยชนด้านเสรีภาพในการแสดงออก และขัดต่อหลักการทำงานโดยอิสระของสื่อมวลชนอย่างชัดแจ้ง อีกทั้งเป็นการใช้กฎหมายและบทลงโทษมาลิดรอน บีบบังคับ รวมถึงจำกัดการทำงานของสื่อมวลชนมากเกินสมควร โดยไม่ได้มุ่งคุ้มครองสาธารณประโยชน์แต่อย่างใด
    .
  3. ท่ามกลางวิกฤติโรคระบาดที่ยังคงทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง การตรวจสอบ แสวงหาข้อเท็จจริง และเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างตรงไปตรงมา ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขผู้เจ็บป่วย ผู้เสียชีวิต ปัญหาการบริหารจัดการ หรือปัญหาด้านการรักษาพยาบาล ถือเป็นภารกิจที่จำเป็นอย่างยิ่งของสื่อมวลชน แม้ข้อเท็จจริงเหล่านั้นอาจทำให้เกิดความหวาดกลัวในสังคม แต่ก็เป็นไปเพื่อให้สังคมได้รับทราบข้อมูลอย่างรอบด้าน อันจะนำไปสู่การร่วมกันหาทางออกในภาวะวิกฤติ และขับเคลื่อนสังคมบนฐานของข้อมูลข่าวสารจริงที่ได้รับการคัดกรองแล้ว
    .
    4.หากรัฐบาลมีข้อกังวลเรื่องการส่งต่อข้อมูลข่าวสารอันเป็นเท็จ (Fake News) ในช่วงวิกฤตินี้ ขอเรียกร้องให้มีการบังคับใช้ข้อกฎหมายเท่าที่มีอยู่ เช่น ประมวลกฎหมายอาญา ในส่วนของการดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาท ฯลฯ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคมว่ารัฐบาลศรัทธาในความเที่ยงธรรมของระบบตุลาการโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาข้อกำหนดเพิ่มเติมแต่อย่างใด
    .
  4. นอกจากความจำเป็นของรัฐบาลในการสร้างหลักประกันการทำงานโดยอิสระ ปราศจากอำนาจบีบบังคับสื่อมวลชนแล้ว ในภาวะเช่นนี้ นับเป็นโอกาสดีที่รัฐบาลจะส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อให้แก่ประชาชน ผ่านการมอบอำนาจให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อมูลและออกแถลงข้อเท็จจริงเพื่อตอบโต้ข้อมูลเท็จ รวมถึงสนับสนุนให้ประชาชนใช้วิจารณญาณในการรับฟังข่าวสารเพื่อยกระดับการรู้เท่าทันสื่อ

“ในระบอบประชาธิปไตยที่มีเสรีภาพในการสื่อสาร ข้อเท็จจริงย่อมทนทานต่อการตรวจสอบขัดเกลาเสมอ ทว่าความพยายามของรัฐบาลในการปิดกั้นข้อมูลด้วยการข่มขู่ผ่านกฎหมายและบทลงโทษมีค่าเท่ากับขัดขวางสาธารณะในการตรวจสอบข้อเท็จจริง ดังนั้น ขอเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกข้อกำหนดฉบับที่ 27 (ข้อ 11) และ ฉบับที่ 29 โดยทันที”แถลงการณ์ระบุ

ขณะที่ DemAll สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย ออกแถลงการณ์ว่า ประกาศทั้งหมดนี้แสดงเจตนาของรัฐบาลอย่างชัดเจนที่ต้องการจำกัดสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชนและประชาชน ใช้คำว่า “ข่าวปลอม” หรือ Fake News เพื่อกลบเกลื่อนความล้มเหลวของตนเองในการบริหารสถานการณ์โรคระบาด มุ่งทำลายฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองเพื่อปกป้องความมั่นคงของตนเองโดยไม่ไยดีต่อความรู้สึกของประชาชน ทั้งที่สื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปสามารถวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล สะท้อนปัญหาเพื่อให้เกิดการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และแก้ไขเพื่อให้สถานการณ์ดีกว่าที่เป็นอยู่ ไม่ควรลุแก่อำนาจคุกคามสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน และประชาชน

“การข่มขู่ดำเนินคดีพร้อมกับระงับสัญญาณอินเทอร์เน็ตอย่างวิถีเผด็จการ ไม่ใช่รัฐบาลของประชาชน ทั้งยังเป็นการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่รัฐย่อมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน อันเป็นหลักการพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย จึงขอส่งข้อเรียกร้องนี้ ให้รัฐเพิกถอนข้อกำหนดทั้งหมดตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 27 และ 29 ที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชน ยกเลิกคำสั่งหรือประกาศที่เกี่ยวข้องทั้งหมดที่มุ่งเอาผิดผู้วิพากษ์วิจารณ์หรือแสดงความคิดเห็นต่อรัฐบาลเพราะรัฐบาลที่แสดงความเป็นเผด็จการ มองไม่เห็นหัวประชาชน คือผู้ก้าวสู่ความเสื่อมถอยด้วยตนเอง ไม่ใช่เพราะเสียงวิพากษ์วิจารณ์ หรือ Fake News อย่างที่กล่าวอ้าง”แถลงการณ์ระบุ

ทั้งนี้สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย (Democracy Alliance :DemAll) เป็นกลุ่มบุคคลผู้ทำงานด้านสื่อสารมวลชนทุกแขนง มุ่งใช้วิชาชีพผลักดันกิจกรรมส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตย ให้คุณค่าหลักสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค สอดคล้องกับหลักอารยะสากล

นายนรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความ เปิดเผยว่า ศาลแพ่ง รับคำร้องแล้ว และจะเปิดให้มีการไต่สวนฉุกเฉินในช่วงบ่ายวันเดียวกันนี้ นอกจากโจทก์ 12 รายแล้ว ยังมีพยานเป็นผู้เชี่ยวชาญ ประกอบ ผศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม อาจารย์คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ อดีต กสทช. และนายอรรถพงศ์ ลิมศุภนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านอินเตอร์เน็ต