1

ชุมชน-ระบบนิเวศสองฝั่งโขงเดือดร้อนหนัก เขื่อนจีน-เขื่อนไซยะบุรีปิดเปิดอย่างไร้กติกา ทำเอาปริมาณน้ำสุดผันผวน “หาญณรงค์”ชี้แม่น้ำไม่เป็นไปตามธรรมชาติอีกแล้ว

เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2564 มีรายงานว่ากระทรวงทรัพยากรน้ำ สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ทำหนังสือ ถึงคณะทำงานร่วมของกรอบความร่วมมือแม่น้ำล้านช้างแม่น้ำโขง (LMC) จากกัมพูชา ลาว พม่า ไทย และเวียดนาม พร้อมสำเนาถึงสำนักเลขาคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) และศูนย์ความร่วมมือทรัพยากรน้ำแม่น้ำล้านช้างแม่น้ำโขง ลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2564 เพื่อแจ้งเตือนการลดการระบายน้ำจากเขื่อนจิงหง

ในหนังสือดังกล่าวมีสาระสำคัญระบุว่า ปริมาณน้ำที่ไหลออกจากสถานีไฟฟ้าพลังน้ำจิงหง (Jinghong Hydropower) จะค่อยๆ ลดลงจาก 900-1,300 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เป็น 700 ลบ.ม. ตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม- 30 สิงหาคม เนื่องงจากการก่อสร้างรับสายส่งไฟฟ้า

“หวังว่าข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์ต่อท่าน และหากมีการเปลี่ยนแปลงการระบายน้ำอย่างมีนัยยะสำคัญ ท่านจะได้รับแจ้งอย่างทันการ” หนังสือระบุ และลงนามโดยนาย Zhong Yong ที่ปรึกษากรมความร่วมมือระหว่างประเทศ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงทรัพยากรน้ำ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้แม่น้ำโขงช่วงท้ายน้ำจากเขื่อนจิงหง บริเวณพรมแดนไทย-ลาว ด้าน อ.เชียงแสน จ.เชียงราย พบว่าหลังจากมีฝนตกหนักต่อเนื่องแม่น้ำโขงเพิ่มระดับขึ้นสูงสุด 6.6 เมตรในวันที่ 22 กรกฏาคม ต่อมาน้ำได้ลดระดับลงอย่างรวดเร็ว เป็น 4.16 เมตร จากนั้นได้เพิ่มขึ้นเมื่อวานนี้ (27 กค.) เป็น 4.59 เมตร และเพิ่มขึ้นอีกในวันนี้ เป็น 4.75 เมตร ซึ่งถือว่าเป็นความผันผวนและมีระดับน้ำต่ำกว่าค่าเฉลี่ย

นส.เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสาร ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์กรแม่น้ำนานาชาติ กล่าวว่าเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเขื่อนแม่น้ำโขงตอนบน 11 แห่งในจีน ทำให้วัฏจักรฤดูกาลของแม่น้ำโขงเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ในช่วงนี้ควรจะเป็นช่วงที่น้ำโขงเพิ่มระดับขึ้นและหลากสู่พื้นที่ชุ่มน้ำและลำน้ำสาขา ให้ปลาและสัตว์น้ำได้อพยพมาขยายพันธุ์ แต่กลับเกิดสถานการณ์น้ำโขงผันผวน และมีระดับน้ำต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของฤดูฝนหลายปีติดต่อกัน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญระบุว่าเป็นช่วงที่เขื่อนต่างๆ ทางตอนบนกักเก็บน้ำในฤดูฝน ทำให้ไม่ลดการระบายน้ำลงมาตอนล่าง เท่ากับว่าฤดูน้ำหลากของแม่น้ำโขงอาจไม่มีอีกแล้วหากเขื่อนในจีนยังถูกใช้งานในลักษณะนี้ แม้จะมีการแจ้งเตือนแต่ก็ไม่เพียงพอ หลักการคือ ต้องมีการปรึกษาหารือ และร่วมบริหารเขื่อนให้สอดคล้องกับฤดูกาล คำนึงถึงความต้องการของระบบนิเวศและประชาชนที่อาศัยอยู่ท้ายน้ำ ทั้งพม่า ลาว ไทย กัมพูชาและเวียดนาม ซึ่งแนวทางนี้ยังไม่เห็นว่ามี

ด้านแม่น้ำโขงบริเวณพรมแดนไทย-ลาว ในภาคอีสานซึ่งอยู่ท้ายน้ำของเขื่อนไซยะบุรี ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน (สปป.) ลาว พบว่าระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2564 นายนครชัย แสงมณี นายอำเภอเชียงคาน ได้ออกประกาศด่วนว่าอำเภอเชียงคานได้รับรายงานจากสถานีอุทกวิทยาที่ 3 เชียงคานว่า ทางเขื่อนไซยะบุรี สปป.ลาว ได้มีการปล่อยน้ำออกจากเขื่อน สืบเนื่องจากปริมาณน้ำมีความจุเกินปริมาณที่ต้องกับเก็บไว้ สูงถึง 10 เมตร จึงได้มีการปล่อยน้ำออกซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกระทบต่อผู้อยู่อาศัยตามแนวริมน้ำและผู้ประกอบอาชีพประมง จาการเฝ้าระวังสังเกต พบว่า ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น 12 ซม.ต่อชั่วโมง จึงออกประกาศเตือนให้ประชาชนในพื้นที่เตรียมเฝ้าระวังระดับน้ำและขนย้ายทรัพย์สินสิ่งของสำคัญไปยังสถานที่ปลอดภัย

นายสมพร แก้วมาลา คนหาปลาสมาชิกกลุ่มประมงเชียงคาน จ.เลย กล่าวว่าระดับน้ำโขงเพิ่มขึ้นสูงตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม โดยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแทบไม่ทันตั้งตัว

“น้ำขึ้นแบบนี้ไม่ใช่ตามธรรมชาติ ไม่เป็นไปตามฤดูกาล เราไม่รู้และคาดการณ์แทบไม่ได้เลย เมื่อมีการแจ้งเตือนมา ว่าจะมีการระบายน้ำจากเขื่อน คนหาปลาก็พากันมาเก็บเครื่องมือหาปลา มาเฝ้าเรือ และเรือนแพ แต่หากจะให้ดีที่สุดคือระกับน้ำโขงควรเป็นไปตามฤดูกาล ก่อนหน้านี้เราเคยเจอเหตุการณ์ที่แม่น้ำโขงลดระดับลงทันที ทำให้เรือ และเรือนแพ ค้างอยู่ริมฝั่ง สร้างความเสียหายมาก” สมาชิกกลุ่มประมงเชียงคาน กล่าว

ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ผู้บริหารบริษัทไซยะบุรีพาวเวอร์ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงวันที่ 25 ก.ค. 2564 ได้เริ่มมีปริมาณน้ำไหลเข้าและผ่านโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี จำนวน 8,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยเป็นปริมาณน้ำไหลผ่านโรงไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงวันที่ 1-24 ก.ค. 2564 ที่มีปริมาณน้ำไหลผ่านเฉลี่ย 3,588 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เนื่องจากอิทธิพลพายุโซนร้อน “เจิมปากา”
ประกอบกับเขื่อนน้ำอู มีการระบายน้ำออกจากเขื่อนตามที่ทางเขื่อนน้ำอูได้ประกาศแจ้งเตือนมาก่อนหน้านี้ โดยคาดการณ์ว่าในวันที่ 27 ก.ค. จะมีปริมาณน้ำไหลผ่านโรงไฟฟ้าประมาณ 7,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และทยอยลดลงเรื่อยๆ เป็น 6,400 และ 5,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

“โรงไฟฟ้าจึงบริหารจัดการโดยการปล่อยน้ำผ่านโรงไฟฟ้าตามปริมาณน้ำจริงที่ไหลเข้าโรงไฟฟ้าตามธรรมชาติออกสู่ท้ายน้ำ เนื่องจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีไม่ใช่เขื่อนประเภทกักเก็บน้ำ ไม่มีความสามารถในการกักเก็บน้ำและไม่มีอ่างเก็บน้ำ แต่เป็นโรงไฟฟ้าแบบน้ำไหลผ่าน หรือ Run-of-River กล่าวคือปริมาณน้ำที่ไหลเข้าโรงไฟฟ้าจะเท่ากับปริมาณน้ำที่ไหลออกจากโรงไฟฟ้าเสมอโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงการไหลตามธรรมชาติของแม่น้ำโขง”ผู้บริหารเขื่อนไซยะบุรี กล่าว

นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) กล่าวว่า กรณีที่มีฝนตกตอนบนแม่น้ำโขง และไหลผ่านเขื่อนต่างๆ เกี่ยวข้องกับการระบายน้ำของเขื่อนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กรณีเขื่อนไซยะบุรีนั้น น้ำต้องผ่านเขื่อนและสามารถควบคุมการระบายน้ำได้ ซึ่งในสภาพธรรมชาติก่อนที่จะมีเขื่อนนั้น แม่น้ำไหลตามธรรมชาติ แต่ในเวลานี้น้ำโขงถูกบีบด้วยช่องแคบที่เป็นบานประตูเขื่อน อัตราการไหลและความแรงก็มากกว่าตามธรรมชาติ การที่บริษัทชี้แจงว่าว่าไซยะบุรีเป็นเขื่อนน้ำไหลผ่าน ตนเองเห็นว่าเขื่อนทำให้แม่น้ำโขงต่างจากการไหลของน้ำตามธรรมชาติ ความรุนแรงของน้ำมากกว่าการที่ไม่มีเขื่อน

“ก่อนนหน้านี้ไม่เคยมีการเตือนว่าน้ำจากเขื่อนจะระบายลงมาเท่าไหร่ แม้ว่าจะมีความพยายามตกแต่งคำใดๆ ก็ตาม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับประชาชนริมแม่น้ำโขงนั้นต่างไปจากสภาพธรรมชาติโดยสิ้นเชิง จะบอกว่าไม่มีอ่างเก็บน้ำ แต่น้ำปริมาณมากถูกกักไว้ ผลกระทบคือเกิดภาวะน้ำนิ่ง ยาวไปถึงเมืองหลวงพระบาง ซึ่งครั้งนี้แม่น้ำโขงที่หลวงพระบางได้รับผลกระทบจากน้ำที่ระบายจากเขื่อนบนแม่น้ำอูด้วย อัตราการเร่งของการปล่อยน้ำจากเขื่อนทำให้การไหลของน้ำเปลี่ยนไป” นายหาญณรงค์กล่าว และว่าคนริมโขงเห็นชัดเจนว่าน้ำโขงทำไม่เปลี่ยนแปลงแบบนี้ ตอนนี้แม่น้ำโขงขึ้นลงขึ้นอยู่กับเขื่อน ยกระดับขึ้นรุนแรง และลดลงแบบกระชาก

“ตอนนี้แม่น้ำโขงถูกควบคุมโดยบริษัทเจ้าของเขื่อนโดยสิ้นเชิง ไม่ใช่แม่น้ำโขงแล้ว ตามธรรมชาติหากน้ำขึ้นก็เกิดจากฝน รับได้ เตรียมตัวได้ ทำใจได้ แต่วันนี้เห็นชัดเจนว่าเกิดผลกระทบข้ามพรมแดน ต่อจังหวัดทั้ง 7 ทางท้ายน้ำของเขื่อน”นายหาญณรงค์ กล่าว