พบนาก-สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ในป่าชุ่มน้ำแม่น้ำอิง นักวิจัยชี้เข้าเกณฑ์อนุสัญญาแรมซ่าร์ ดึงชุมชนร่วมอนุรักษ์แห่งแรกในเอเชีย
นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต กล่าวว่า การค้นพบนากในลุ่มน้ำโขงบริเวณแม่น้ำอิงสะท้อนให้เห็นว่าพื้นที่ราบลุ่มน้ำอิงตอนล่างมีความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาค เป็นการค้นพบครั้งสำคัญของพื้นที่ลุ่มน้ำโขง โดยสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต และตัวแทนชาวบ้านจะร่วมมือกันในการที่จะดูแลรักษาหาพื้นที่ปลอดภัยให้กับนาก โดยปัจจุบันมีความร่วมมือกับสำนักทรัพยากรธรรมชาติฯพยายามผลักดันให้ขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำ
นายพิษณุกร ดีแก้ว เจ้าหน้าที่สมาคมฯในฐานะผู้ช่วยนักวิจัยกล่าวว่า จากการสำรวจสองจุดที่ป่าบุญเรืองและป่าชุ่มน้ำบ้านม่วงชุม โดยใช้กล้องดักจับ camera tab จำนวน 25ตัว เป็นเวลา1 เดือน โดยพบนากใหญ่ธรรมดา และยังพบอีเห็น แมวดาว กระต่ายป่าและนกต่างๆ ซึ่งจากการบอกเล่าของชาวบ้านบอกว่าเคยเห็นแต่ไม่เคยเห็นภาพชัดเจนเราจึงได้ตั้งกล้องไว้ 1 เดือนเพื่อดักถ่ายสัตว์
นายพิชเญศพงษ์ คุรุปรัชญามรรค ผู้ประสานงานสภาประชาชนลุ่มน้ำอิงตอนล่างและชาวบ้านบุญเรือง กล่าวว่า นากในประเทศไทยที่ค้นพบคือ นากใหญ่ธรรมดา นาคใหญ่ขนเรียบ นากจมูกขนและนากเล็กเล็บสั้น ทุกชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง แต่ที่พบคือนากใหญ่ธรรมดา เมื่อเอาไปศึกษาร่วมกับนักวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พบว่าลุ่มแม่น้ำอิงอาจมีนากอยู่ 2 ชนิดคือนากใหญ่ธรรมดาและนากใหญ่ขนเรียบ นอกจากนี้ยังพบสัตว์หายากขนาดเล็กคือแมวดาวมีความสำคัญเหมือนกันเสือปลาซึ่งเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ยังพบสัตว์กลุ่มชะมด กระต่าย ไก่ป่าและนกทั้งประจำถิ่นและนกอพยพตามฤดูกาล สะท้อนว่าลุ่มน้ำอิงยังอุดมสมบูรณ์
“เดิมนากเป็นข้อพิพาทกับเครื่องมือทำมาหากินกับชาวบ้าน พื้นที่พบนากส่วนใหญ่เชื่อมต่อกับเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา ก้าวต่อไปของคนบุญเรืองคือเราจะอยู่ร่วมกับสัตว์อย่างไรโดยไม่เบียดเบียนกัน แบ่งพื้นที่ใช้ประโยชน์กันอย่างไร”นายพิชเญศพงษ์ กล่าว
นายสายัณน์ ข้ามหนึ่ง รองผู้อำนวยการสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตกล่าวว่า เราต้องพิสูจน์ให้ได้ว่านากที่พบในป่าชุ่มน้ำบ้านม่วงชุม มีแนวโน้มเป็นไปได้ที่จะเป็นนากใหญ่ขนเรียบ เนื่องจากชาวบ้านพบเจอแต่ละครั้งกว่า 10 ตัว ซึ่งลักษณะหางไม่เหมือนกัน จากผลการตรวจ DNA เป็นนากใหญ่ธรรมดา ซึ่งมีนิสัยชอบอยู่แบบสันโดด ภารกิจต่อไปคือเก็บตัวอย่างเพื่อส่งตรวจดีเอ็นเอ และมีตัวอย่างโครงกระดูกนากที่บุญเรือง เราคาดว่ามี 2 ชนิด ในลุ่มน้ำอิง และสายพันธุ์กรรมไม่ตรงกับที่อื่นเลย แสดงว่าเป็นสายพันธุ์ที่นี่
“1 ใน 8 เกณฑ์ของการขึ้นทะเบียนแรมซ่าคือพิสูจน์ได้ว่ามีสัตว์ใกล้สูญพันธุ์และมีเอกลักษณ์ในพื้นที่ชุ่มน้ำให้สัตว์เหล่านี้อยู่ได้ เป็นการพิสูจน์ได้ว่าเรามีพื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญระหว่างประเทศ ตรงนี้หากเราจัดการความขัดแย้งระหว่างคนกับนากในมิติความสัทพันธุ์ทางสังคม จะทำให้พื้นที่นี้เป็นแห่งแรกๆของเอเชีย เพราะยังไม่มีที่ไหนทำได้”นายสายัณน์ กล่าว
นายไกรทอง เหง้าน้อย ผู้ช่วยนักวิจัย ที่ได้ร่วมศึกษาวิจัยด้านความสัมพันธ์ นากกับคน ในลุ่มน้ำอิงตอนล่าง 10ชุมชน กล่าวว่า นากอยู่ในภาวะถูกคุกคามคือชาวบ้านบางส่วนยังเห็นเป็นศัตรูเพราะนากทำลายเครื่องมือหาปลาของชุมชน ในแต่ละปีคนหาปลาในแม่น้ำอิงสูญเสียเครื่องมือหาปลาที่เป็นตาข่ายดักปลาคิดเป็นอัตราความสูญเสียกว่า20,00 บาทต่อคน ซึ่งทำให้ภาพความขัดแย้งเพิ่มสูงขึ้น แต่หากสภาพปัญหาหลักๆซึ่งมาจากการลดลงของพื้นที่แหล่งอาหาร ในแม่น้ำอิงทำให้ปริมาณปลาลดลง ที่อยู่อาศัยของนากถูกคุกคามจากการพัฒนาพื้นที่ ทั้งการขุดรอก การเปลี่ยนสภาพพื้นที่ พอพื้นที่อาหารลดลง คนกับนากมีแหล่งอาหารในพื้นที่เดียวกัน จึงเกิดการแย่งชิงปลา และทำลายอุปกรณ์เครื่องมือหาปลา จากกนี้ไปเราพยายามทำความร่วมมือกับชุมชน เพื่อลดผลกระทบด้านความขัดแย้ง และเพิ่มพื้นที่ปลอดภัยแหล่งอาหารให้นาก
“ถ้าเราทำเป็นพื้นที่อนุรักษ์นากลุ่มน้ำอิงทำได้ ก็น่าจะช่วยเปลี่ยนทัศนคติคนได้ พื้นที่แห่งนี้จะเป็นพื้นที่แรกของเอเชียที่อนุรักษ์นาก ดังนั้นควรมีการจัดตั้งกองทุนเยียวยาเครื่องมือหาปลาที่ถูกนากทำลาย และระยะยาวควรมีการดูแลเรื่องการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การเพาะพันธุ์ปลาพื้นเมืองเพื่อชดเชยปลาที่หายไป ถ้าเราไม่พยายามสร้างแหล่งอาหารให้ความขัดแย้งก็ยิ่งเพิ่มขึ้น”นายไกรทอง กล่าว