หาชมได้ยาก!ภาพบรรยากาศการปรุงอาหารกลางป่า ของเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนเชิงคุณภาพ
การเดินเท้าลาดตระเวนป่า ของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ประจำอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และ เขตห้ามล่าสัตว์ป่า แต่ละแห่งนั้น ได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวาง ว่า เป็นนโยบายหรือแนวทางการปฎิบัติที่ประสบผลสำเร็จสูงยิ่ง ที่สามารถปกป้องทรัพยากรป่าไม้ และสัตว์ป่า ไว้ได้อย่างเห็นได้ชัดยิ่ง โดยเฉพาะการลาดตระเวณเชิงคุณภาพ (Smart Patrol) ได้ชื่อว่าเป็นมิติใหม่ในการป้องกันตัดไม้และล่าสัตว์ป่า อย่างได้ผล
การลาดตระเวนเชิงคุณภาพ นี้ เจ้าหน้าที่ ต้องเดินเท้าเข้าไปนอนในป่า คราวละอย่างน้อย 5-7 คืน โดยปกติเจ้าหน้าที่ไปด้วยกัน ครั้งละ 5-7 คน
การดำรงชีพในป่า น้ำที่ใช้ดื่ม ถ้าโชคดีก็ตักเอาน้ำที่ดูสะอาดมาจากลำห้วย แต่ถ้าหน้าแล้ง ก็ต้องตักเอามาจากปลัก หรือ หนองน้ำ นำมากรอง โดยใช้เครื่องกรองแบบง่ายๆ ดูไปแล้ว เครื่องกรองนี้ เหมือนกับการให้น้ำเกลือแก่คนป่วย
ส่วนอาหารการกิน ทุกคนก็จะพกข้าวสารมาด้วย ก็ต้องหุง ครับ ในป่าไม่มีไฟฟ้า ก็ต้องก่อไฟ การก่อไฟ ถ้าไม้ฟืนเปียก ต้องเป่ากันเหนื่อยหน่อย หม้อที่ใช้หุงข้าว นิยมใช้หม้อสมัยเก่าของทหาร
ส่วนการแกง การต้ม ส่วนใหญ่การเดินป่ายุคนี้ นิยมใช้เตาแก๊สเดินป่า เพราะเล็ก กะทัดรัด แรงไฟดี อันนี้ดูแล้ว เป็นสมัยใหม่ ส่วนการตำน้ำพริก ต้องใช้ครก และสาก แบบที่สั่งทำพิเศษ ที่มีน้ำหนักเบา การจะแบกครกหิน ขึ้นเขา จะเปลืองแรงมากไป นักเดินป่าลาดตระเวน ไม่ทำกัน
ใช้ใบกล้วยป่า มาปูแทนเสื่อ เมื่อเสร็จแล้ว ล้อมวงนั่งกินร่วมกัน อย่างเอร็ด อร่อย ก่อนจะแยกย้ายกันนอนเปล ออมแรงไว้เดินป่าในวันรุ่งขึ้น ทุกคนบอกว่า ก่อนนอนทุกคืน ไม่เคยลืมไหว้พระ บอกกล่าวแก่เจ้าที่ เจ้าป่า และ เทวดา ทั้งหลาย แล้วจะฝันดี ตลอดคืน