1

พิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ เกียรติบัตร และป้ายโรงเรียนต้นแบบ

เมื่อวันพุธที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2563) เวลา 14.00 น. ณ หอประชุมฯ เฉลิมพระเกียรติฯ วัดเขียนเขต (พระอารามหลวง) อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี จัดให้มีพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ เกียรติบัตร และป้ายโรงเรียนต้นแบบ โครงการเผยแผ่พระพุทธศาสนาสู่สถานศึกษา เพื่อฟื้นฟูศีลธรรมโลก “โรงเรียนรักษาศีล 5 จังหวัดปทุมธานี” ประจำปีการศึกษา 2562 ขึ้น โดยได้รับความเมตตาจากพระเดชพระคุณพระธรรมรัตนาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ประธานคณะกรรมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาประจำจังหวัดปทุมธานี เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และได้รับเกียรติจากนายฉัตรชัย ชูเชื้อ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดปทุมธานี ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประธานฝ่ายฆราวาส โดยมีคณะสงฆ์ พระสอนศีลธรรม หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรภาคีเครือข่าย ผู้แทนสถานศึกษา และผู้มีจิตอันเป็นกุศล ร่วมพิธีฯ โดยพร้อมเพรียงกัน

พระเดชพระคุณพระธรรมรัตนาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ประธานคณะกรรมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาประจำจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า “กิจกรรมในโครงการฯ โรงเรียนรักษาศีล 5 มีเป้าหมายในการส่งเสริมให้เยาวชน และผู้เกี่ยวข้อง ได้ปลูกฝังนิสัยการรักษาศีล 5 ผ่านการปฏิบัติจริงในกิจวัตรประจำวัน โดยมีบทฝึกพัฒนานิสัยบัณฑิตนักปราชญ์ 7 ประการเป็นเครื่องมือทำงาน ประกอบด้วย บทฝึกการเดิน, บทฝึกการถอดและวางรองเท้า, บทฝึกการแสดงความเคารพปฏิสันถารครู, บทฝึกการทำความสะอาดโต๊ะเก้าอี้, บทฝึกการจัดระเบียบการวางสิ่งของเครื่องใช้, บทฝึกการนั่งสมาธิ และบทฝึกการสวดมนต์ ซึ่งการปฏิบัติตามบทฝึกพัฒนานิสัยทั้ง 7 ประการ ช่วยเกื้อกูลส่งเสริมให้เกิดการรักษาศีล 5 ได้อย่างมั่นคง และยั่งยืน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมีความสะอาดก็ปราศจากสัตว์ที่เข้าไปกัดกินเศษซากความสกปรกต่างๆ การฆ่าก็ไม่เกิด เมื่อไม่มีโอกาสจะฆ่าจนคุ้น ก็จะไม่คุ้นกับการฆ่า, ความมีระเบียบ ทําให้ไม่คิดสับสน รู้จักประมาณตน ในการใช้ปัจจัย 4 การลักขโมยย่อมไม่เกิด, ความสุภาพ ทําให้เป็นคนที่มีกิริยาวาจาอ่อนโยน อากัปกิริยาสุภาพสำรวม ไม่กระทำตนให้เข้าสำนวนขุดบ่อล่อปลา, การตรงต่อเวลา ทําให้เป็นคนมีวินัย มีสัจจะ อันเป็นเหตุป้องกันการพูดเท็จ และการมีสมาธิจิตตั้งมั่น ทําให้มีสติสัมปชัญญะในการดำรงตนอยู่บนพื้นฐานความดี การเสพสุรา และการยุ่งเกี่ยวกับอบายมุข ย่อมไม่เกิดขึ้น เป็นต้น.”

ทางด้านของนายวินัย ยงเขตการณ์ ศึกษาธิการจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า “โครงการฯ นี้ ดำเนินงานโดยความร่วมมือของศูนย์เผยแผ่พระพุทธศาสนาประจำจังหวัดปทุมธานี ร่วมกับ พระสอนศีลธรรม องค์กรภาคีเครือข่าย ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และผู้มีจิตอันเป็นกุศล เน้นบูรณาการกิจกรรมในโครงการโรงเรียนรักษาศีล 5 ของคณะสงฆ์, โครงการโรงเรียนคุณธรรม ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ, โครงการชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของกระทรวงวัฒนธรรม และโครงการฟื้นฟูศีลธรรมโลก ของชมรมพุทธศาสตร์สากล ในอุปถัมภ์สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ที่ได้ดำเนินการจนเกิดผลสัมฤทธิ์เชิงบวกอย่างเป็นรูปธรรมเข้าด้วยกัน เพื่อมุ่งหวังสร้างผู้นำเยาวชนต้นแบบด้านศีลธรรม หรือ ดาวแห่งความดี ที่มีคุณธรรมพื้นฐาน สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ที่มุ่งเน้นด้านคุณธรรมจริยธรรม เพื่อสร้างค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ และการเป็นพุทธศาสนิกชนที่แท้จริง.”
 

ในส่วนของนายฉัตรชัย ชูเชื้อ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า “การปลูกฝังศีลธรรมให้แก่เยาวชนในสภาพสังคมปัจจุบันเป็นเรื่องสำคัญ และเร่งด่วนมาก จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจึงจะประสบความสำเร็จ ด้วยความตระหนักร่วมกันนี้ ทำให้เกิดความร่วมมือในการจัดกระบวนการพัฒนาผู้เรียนให้มีความประพฤติ ทั้งทางกาย  ทางวาจา และทางใจ ที่สะอาดบริสุทธิ์ มีความสามารถในการนำความรู้มาใช้ ให้เกิดคุณต่อตนเอง และบุคคลรอบข้าง โดยเน้นพัฒนาจากการฝึกฝนตามหลักธรรม และหลักวิชาการ ผ่านกิจวัตรในชีวิตจริง ส่งผลให้เกิดเป็นสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ได้ดี อาทิ การมีจิตใจผ่องใส, การมีสัมพันธภาพที่อบอุ่นระหว่างครูกับศิษย์, การร่วมกันรักษาห้องเรียนให้สะอาด เป็นระเบียบ, การส่งเสริมการรักษาศีล 5 เป็นต้น.”

อนึ่ง การดำเนินงานโครงการฯ ประจำปีพุทธศักราช 2562 ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องโดยการนำของฝ่ายเผยแผ่ และพระสอนศีลธรรมของคณะสงฆ์จังหวัดปทุมธานี พร้อมด้วยคณะทำงานของชมรมพุทธศาสตร์สากล ในอุปถัมภ์สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ได้ร่วมกันตรวจเยี่ยม และประเมินผลเสร็จสิ้นตั้งแต่เมื่อช่วงต้นปีพุทธศักราช 2563 โดยก่อนหน้านี้ ได้มีกำหนดจัดพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ เกียรติบัตร และป้ายโรงเรียนต้นแบบ ในวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา แต่เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงได้มีการเลื่อนกำหนดพิธีฯ มาจัดขึ้นในวาระนี้ ในพิธีประกาศเกียรติคุณฯ มีผู้แทนสถานศึกษาที่ผ่านเกณฑ์การประเมินของโครงการฯ รวมจำนวน 75 แห่ง เข้าร่วมพิธีฯ แบ่งออกเป็น ประเภทโรงเรียนต้นแบบ และประเภทชั้นเรียนต้นแบบ อีกทั้ง ยังมีการถวายประกาศนียบัตรแก่พระสอนศีลธรรม และมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่องค์กรภาคีเครือข่ายฯ ที่ร่วมปฏิบัติงานและสนับสนุนการดำเนินงานฯ จนสำเร็จตามวัตถุประสงค์ด้วยความเรียบร้อยดีงามอีกด้วย.